ตราบจนสิ้นกรรม หลังจากประสบความสำเร็จในปฏิบัติการสลายสหภาพโซเวียตออกเป็นประเทศอิสระเกิดใหม่หลายประเทศในปี ค.ศ. 1991 แลนซ์ เบลลิงเจอร์เจ้าหน้าที่ซีไอเอสหรัฐฯได้รับมอบภารกิจใหม่ลับที่สุดที่จะแยกเมียนมาร์ออกเป็น 3 ประเทศ ด้วยการให้ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในเมียนมาร์รวมตัวกันเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชหลังจากที่ต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ของรัฐบาลทหารพม่าหรือ SLORC มาตั้งแต่นายพลเนวินได้ทำการรัฐประหารในปี ค.ศ. 1962 และเปลี่ยนการปกครองเป็นเผด็จการสังคมนิยม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเมียนมาร์ในปี ค.ศ. 1989 เบลลิงเจอร์ปฏิบัติการภายใต้องค์กรบังหน้าของซีไอเอคือมูลนิธิโฮปแอนด์แฮบปีเนส (Hope and Happiness Foundation) ซึ่งอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติการที่ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย หากดำเนินการสำเร็จ เมียนมาร์จะแบ่งออกเป็นสามประเทศ ได้แก่เมียนมาร์ (Myanmar) เป็นของชาวพม่าอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยพม่าตะวันตก(West Burma) เป็นของชนกลุ่มน้อยชิน คะฉิ่น และอาระกัน(ยะไข่) และพม่าตะวันออก(East Burma) เป็นของชนกลุ่มน้อยฉาน(ไทใหญ่) กะเหรี่ยง คะยาห์และมอญ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนนโยบายนี้ คือ เคนริก โฮป นักธุรกิจใหญ่ในด้านปิโตรเลียมชาวอเมริกันและเจ้าของมูลนิธิโฮปแอนด์แฮปปีเนส แผนปฏิบัติการดังกล่าวได้รั่วไปถึงหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลทหารเมียนมาร์ซึ่งร่วมมือกับอดีตเจ้าหน้าที่เคจีปีของสหภาพโซเวียตขัดขวางการปฏิบัติการของเบลลิงเจอร์ทำให้เจ้าหน้าที่ซีไอเอผู้นี้กับแมนดี้ อ่องเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิโฮปแอนด์แฮปปีเนสตกอยู่ในภาวะอันตรายอย่างยิ่ง ขณะที่การปฏิบัติการต้องเผชิญกับอุปสรรคและความซับซ้อนมากกว่าที่เบลลิงเจอร์คาดคิดและเขาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับแผนลอบสังหารรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่เดินทางมาประชุมในประเทศไทย นำความตื่นเต้นระทึกใจมาสู่การดำเนินเรื่องของนวนิยายจารกรรมอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้